พระสมบูรณ์แบบ

หลวงตามหาบัว  ญาณสมฺปนฺโน

"ดูก่อนภิกษุทั้งหลาย พรหมจรรย์นี้เราประพฤติมิใช่เพื่อหลอกลวงคน  มิใช่เพื่อให้คนทั้งหลายมานับถือ  มิใช่เพื่ออานิสงส์ลาภสักการะ  และความสรรเสริญ  มิใช่จุดมุ่งหมายเพื่อเป็นเจ้าลัทธิ  และแก้ลัทธิอย่างนั้นอย่างนี้  มิใช่เพื่อให้ใครรู้จักตัวว่าเป็นอย่างนั้นอย่างนี้  ที่แท้พรหมจรรย์นี้เราประพฤติเพื่อสังวระ  คือความสำรวมปหานะ  คือความละ  เพื่อวิราคะ  คือเพื่อคลายความกำหนัดยินดี  และเพื่อนิโรธะ  คือความดับทุกข์" 

"ดูก่อนภิกษุทั้งหลาย  ธรรมที่เราได้บรรลุแล้วนี้  ลึกซึ้งเห็นได้ยาก  รู้ตามได้ยาก  สงบประณีต  มิใช่วิสัยแห่งตรรก  คือคิดเอาไม่ได้  หรือไม่ควรลงความเห็นด้วยการเดา  แต่เป็นธรรมที่บัณฑิตพอจะรู้ได้"

"พระเราที่จะเป็นพระสมบูรณ์แบบขึ้นอยู่กับพระวินัย  เป็นหลักประกันพระในขั้นแห่งความเป็นพระทั่วๆ  ไป  ตามหลักนิยมของพุทธศาสนา  การประพฤติทางกาย  ทางวาจา  มีใจเป็นธรรมนำมารับผิดชอบการเคลื่อนไหวของกาย  วาจา  อยู่ด้วยความระมัดระวังเสมอนี่คือพระที่ชอบธรรมตามหลักของศาสดาที่สอนไว้  นี่เป็นขั้นหนึ่งแห่งความสมบูรณ์ของพระ  เจ้าของก็มีความอบอุ่น  คนอื่นมองเห็นก็น่าเคารพเลื่อมใส

ขั้นสองก็คือธรรม  เจริญธรรมขึ้นภายในใจ  มีสมถธรรมหรือสมาธิธรรมเป็นขั้นๆ  ด้วยความพากเพียร  และปัญญาธรรมถึงวิมุตหลุดพ้นเรียกว่าวิมุตติธรรม  ทรงไว้ซึ่งธรรมวินัยโดยสมบูรณ์ในหลักธรรมชาติของพระ  นี้เป็นพระสมบูรณ์แบบ  เป็นพระที่ควรอย่างยิ่งต่อความเป็นสรณะของโลกได้  ดังพระในครั้งพุทธกาลที่ท่านได้เป็นสรณะโลกเรื่อยมา

พุทธัง  สะระณัง  คัจฉามิ  ก็คือ  พระพุทธเจ้าเป็นผู้บรรลุวิสุทธิธรรมอันล้ำเลิศ  ด้วยการประพฤติปฏิบัติชอบยิ่งของพระองค์เอง

ธัมมัง  สะระณัง  คัจฉามิ  พระธรรมอันประเสริฐเลิศเลอยิ่งกว่าสิ่งอื่นใดในโลก  ได้ปรากฏขึ้นในพระทัย  เพราะการปฏิบัติดีปฏิบัติชอบยิ่งของพระองค์

สังฆัง  สะระณัง  คัจฉามิ  พระสงฆ์ได้เกิดความเชื่อ  ความเลื่อมใสในหลักธรรมที่พระองค์ทรงสอน  แล้วนำไปประพฤติปฎิบัติด้วยความเอาจริงเอาจัง  เนื่องมาจากความเชื่ออย่างถึงใจ  การทำทุกสิ่งทุกอย่างย่อมถึงใจ"

จากหนังสือชาติสุดท้าย  โดย หลวงตามหาบัว  ญาณสัมปันโน  วัดป่าบ้านตาด  จ.อุดรธานี

พระเครื่อง เครื่องราง